เมื่อกล่าวถึงการแต่งบ้านในปัจจุบันแล้ว ต้องยอมรับว่าทุกคนสามารถตกแต่งบ้านได้ด้วยตนเอง ตามไลฟ์สไตล์ และ รสนิยมความชอบส่วนบุคคล แต่ถึงกระนั้นการสร้างสรรค์ตกแต่งภายในบ้านให้ออกมาสวยงาม อยู่สบาย พร้อมทั้งสามารถใช้งานได้อย่างครบครัน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายเหตุปัจจัยในการสร้างขึ้น ไม่เพียงแค่คำนึงถึงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังควรควบคุมความเหมาะสมของวัสดุ และ โครงสร้างอีกด้วย เพราะเหตุนี้จึงทำให้เจ้าของบ้านจำนวนมากต้องการมองหาผู้มารับหน้าที่สร้างสรรค์ทุกอย่างภายในบ้านให้มีความลงตัวมากที่สุด อย่างนักออกแบบตกแต่งภายใน หรือ มัณฑนากร
นักออกแบบตกแต่งภายใน เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หลายคนเรียกติดปากว่า อินทีเรีย ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ออกแบบพื้นที่ว่างภายในอาคาร (Space) โดยคัดสรรวัสดุที่เหมาะสม พร้อมออกแบบให้ตอบสนองการใช้งาน (Human Scale) และอยู่ภายใต้บริบทของความสวยงาม นอกจากนั้นหน้าที่ของมัณฑนากรมีความแตกต่างจากสถาปนิกอยู่พอสมควร โดยสถาปนิกคือผู้ออกแบบตัวอาคารโดยรวมทั้งหมด ต้องทำงานร่วมกับวิศวกร ช่างผู้รับเหมา แต่มัณฑนากรเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบตกแต่งภายในเท่านั้น
ในกรณีที่ต้องออกแบบพื้นที่ภายในอาคารสาธารณะ ขนาด 500 ตารางเมตรขึ้นไป ผู้ออกแบบจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ จากสภาสถาปนิก ตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2549 ว่าด้วยการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ซึ่งในขั้นตอนของการทำงานออกแบบ ทั้งสถาปนิก และ มัณฑนากรจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้บ้านหนึ่งหลังสวยงามทั้งภายนอก พร้อมทั้งอยู่สบายในพื้นที่ภายใน
แต่ในบางกรณีอย่างบ้านโครงการจัดสรร หรือ คอนโดมิเนียมที่ต้องรอการก่อสร้างเสร็จก่อน มัณฑนากรจึงจะเข้าดำเนินการออกแบบตกแต่งได้ในภายหลัง โดยระหว่างก่อสร้างมัณฑนากรจะเข้าตรวจสอบความเรียบร้อย และ สำรวจส่วนต่างๆ อาทิเช่น การวางระบบไฟ ระบบน้ำ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการใช้งานของเจ้าของบ้าน ไปพร้อมกับการตกแต่งภายในให้เกิดความสวยงาม
แบ่งเงินสำหรับใช้ ‘ตกแต่งภายใน’ อย่างไรดี
หากต้องการออกแบบบ้านภายใน สิ่งที่ควรรู้ในเบื้องต้นสำหรับบอกกล่าวกับมัณฑนากร คือ ความต้องการของตนเอง อย่างรูปแบบความสวยงาม หรือ สไตล์บ้านที่ตนเองชื่นชอบ ตลอดจนการใช้งาน พร้อมทั้งกิจกรรมภายในบ้านที่ตนเอง และ ครอบครัวทำร่วมกันอยู่เสมอ นอกจากนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ งบประมาณสำหรับตกแต่งภายใน โดยวิธีคำนวณเงินเบื้องต้นสำหรับตกแต่งภายในนั้น ให้แบ่งเงิน 30% ของราคาบ้าน เพื่อเป็นค่าจัดสรรพื้นที่ภายใน ซึ่งภายในงบ 30% ของราคาบ้าน จะประกอบไปด้วย ค่าออกแบบโดยมัณฑนากร ค่าวัสดุ ค่าเฟอร์นิเจอร์ และค่าแรงช่าง
ทั้งนี้งบตกแต่งภายในจะมากหรือน้อยกว่านี้นั้น สามารถตั้งงบได้ตามสะดวก โดยที่เจ้าของบ้านเลือกจัดจ้างเฉพาะมัณฑนากรสำหรับออกแบบ แล้วหาช่างผู้รับเหมาเอง หรือมอบหน้าที่ทั้งหมดให้ มัณฑนากรดูแล ไปจนถึงการจัดจ้างบริษัทออกแบบภายใน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่มีร่วมกัน ซึ่งค่าบริการออกแบบมักถูกกำหนดโดยสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนของระดับอัตราค่าบริการวิชาชีพขั้นพื้นฐาน หรือค่าจ้างอินทีเรียนั้น ถูกกำหนดไว้เป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ
1.การคิดค่าบริการวิชาชีพแบบอัตราร้อยละ (Percentage of Project)
2.การคิดค่าบริการวิชาชีพแบบคำนวณจากเวลาทำงาน (Hourly Rate)
3.การคิดค่าบริการวิชาชีพแบบเหมารวม (Lump Sum)
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะคิดค่าบริการออกแบบอัตราร้อยละ ตามลักษณะกลุ่มอาคารที่แบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน โดยบ้านพักอาศัย และ ห้องชุดพักอาศัย ถูกจัดอยู่ในอาคารประเภทที่ 2 โดยมีการคิดค่าบริการออกแบบดังนี้
- งบตกแต่งภายในไม่เกิน 5 ล้าน คิดค่าบริการวิชาชีพ 15%
- งบตกแต่งภายใน 5-10 ล้าน คิดค่าบริการวิชาชีพ 13%
- งบตกแต่งภายใน 10-20 ล้าน คิดค่าบริการวิชาชีพ 11 %
- งบตกแต่งภายใน 20-50 ล้าน คิดค่าบริการวิชาชีพ 10 %
- งบตกแต่งภายใน 50-100 ล้านบาท คิดค่าบริการวิชาชีพ 9 %
- งบตกแต่งภายใน 100-200 ล้านบาท คิดค่าบริการวิชาชีพ 8 %
- งบตกแต่งภายใน 200-500 ล้านบาท คิดค่าบริการวิชาชีพ 7 %
- งบตกแต่งภายใน 500 ล้านบาทขึ้นไป คิดค่าบริการวิชาชีพ 5 %
ควรจ่ายค่าจ้างช่วงเวลาไหน
โดยปกติทั่วไปแล้วเจ้าของบ้านมักจะไม่จ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ครั้งเดียวตั้งแต่ก่อนงานเริ่ม เพราะหากเป็นเช่นนั้น อาจเสี่ยงต่อการหนีงานเป็นอย่างสูง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการจัดจ้างสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน หรือตกแต่งบ้านก็ควรมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ โดยมาตรฐานสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายใน ปีพ.ศ.2551 ได้มีกำหนดการจ่ายค่าออกแบบ ดังต่อไปนี้
เริ่มต้นที่ 10% ขั้นตอนการตกลงว่าจ้าง และ ทำสัญญาจ้าง 30% เสนองานออกแบบ หรือ ส่งแบบร่างเบื้องต้น ซึ่งเป็นแบบที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามตามแบบที่เจ้าของบ้านต้องการ ตามด้วย 20% ปรับปรุงแบบ หลังจากเสนอแบบครั้งแรก เจ้าของบ้านสามารถออกความคิดเห็นเพิ่มให้อินทีเรีย เพื่อปรับปรุงแบบตามความเหมาะสม ตลอดจนคัดเลือกสเปควัสดุ เพื่อให้แบบบ้านออกมาดีที่สุด อีก 30% ส่งมอบแบบที่สมบูรณ์ หลังจากปรับปรุงแบบเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือสรุปแบบเพื่อให้ช่างผู้รับเหมาดำเนินการสร้างจริง
ในส่วนนี้หากเจ้าของบ้านจัดหาผู้รับเหมาเองจะเป็นอันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ออกแบบ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะให้อินทีเรียดูแลความเรียบร้อยในขั้นตอนคุมงานก่อสร้างจนบ้านเสร็จสมบูรณ์พร้อมเข้าอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้าน และ ผู้ออกแบบตกลงกัน ขั้นตอนสุดท้าย 10% เริ่มงานก่อสร้างจนใกล้แล้วเสร็จ เมื่อช่างผู้รับเหมาดำเนินการตกแต่งภายในบ้านตามแบบที่ออกแบบไว้ อินทีเรียจะยังคงดูแลความคืบหน้า ความเรียบร้อยในขั้นตอนก่อสร้างตกแต่งภายในให้เป็นไปตามแบบบ้านที่วางไว้
US Furnish บริษัทรับออกแบบตกแต่งภายในอย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ผลิต ไปจนถึงติดตั้ง จบงานได้ในที่เดียว เพราะเรามีทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในการทำงานตกแต่งภายใน งานบิ้วท์อิน ที่มากด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ US Furnish เข้าใจถึงความสำคัญของบ้านที่เป็นที่พักผ่อนอย่างแท้จริง